เจ้าผู้ครองนครสโตยพระยาภูมินารถภักดี
มหาอำมาตย์ตรีพระยาภูมินารถภักดี เดิมชื่อ ตนกู บาฮารุดดิน บินกูแมะ เป็นบุตรคนที่ 6 ของนายกูแมะและนางแจ๊ะจิ เกิดที่ตำบลอลอร์สตาร์ อำเภอออลร์สตาร์ รัฐเคดะ (ไทรบุรี) เมื่อ พ.ศ. 2391 มีพี่น้องร่วมบิดา 9 คน เป็นชาย 4 หญิง 3 คน พระยาภูมินารถภักดีมีภรรยา 4 คน มีบุตรธิดา 7 คน โดยสมรสกับนางสาวเจ๊ะโสมมีบุตรด้วยกัน 1 คน สมรสกับนางสาวจ๊ะด๊ะมีบุตรด้วยกัน 1 คน สมรสกับนางสาวเจ๊ะเต๊ะเชื้อสายคนจีนชาวตำบลฉลุง (บ้านจีน) มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาสมรสกับนางสาวหวันเต๊ะฮะอุรามีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คน พระยาภูมินารถภักดี คือ ต้นตระกูลบินดำมะหงง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในจังหวัดสตูล
ตนกูบาฮารุดดิน เริ่มชีวิตการรับราชการด้วยการเป็นเสมียน ต่อมาดำรงตำแหน่งพัศดีเรือนจำที่เมืองอลอร์สตาร์ หลังจากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองชั้นสูงทางฝ่ายไทรบุรี ใบ ปี พ.ศ.2438 เมืองไทรบุรีได้ส่งตนกูบาฮารุดดิน มาช่วยราชการเมืองสตูล เนื่องจากพระยาอภัยนุราชเจ้าเมืองสตูลป่วย ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองให้เกิดผลดีได้ กระมั่งปี พ.ศ.2440 สตูลว่างเจ้าเมือง พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้รวมเมืองไทรบุรีเปอร์ลิส และสตูล เป็นเขตการปกครองเดียวกัน ขึ้นตรงต่อมณฑลภูเก็ต และทรงแต่งตั้งตนกูบาฮารุดดิน ให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าเมืองสตูล สืบต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2443 โดยให้ลงนามลงในหนังสือราชการว่า ตนกูบาฮารุดดินบินกูแมะ ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เป็นหลวงอินทรวิชัย และพระยาอินทรวิชัย ตามลำดับ
ตำแหน่งสุดท้าย คือ มหาอำมาตย์ตรี พระยาภูมินารถภักดี จางวางกำกับเมืองสตูล ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสตูลอยู่ 14 ปี ออกจากราชการเมื่อปี พ.ศ.2457 และถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 อายุรวม 83 ปี ได้ทำพิธีฝั่งศพที่สุสานมากามาฮา ซึ่งเป็นที่ดินของท่านที่ได้อุทิศไว้สำหรับฝั่งศพชาวมุสลิมทั่วไปด้วย สุสานแห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่า สุสานพระยาภูมินารถ ตั้งอยู่ที่ถนนสตูลธานี ซอย 17 (กูโบร์)
ผลงาน / ผลงานหรือเกียรติคุณที่ได้รับ
แม้ว่าจะมิได้สืบเชื้อสายเจ้าเมืองสตูลเดิม แต่ท่าน ตนกูบาฮารุดดินบินกูแมะ ก็เป็นนักปกครองที่มีสามารถ ท่านรู้แตกฉานทั้งภาษาไทยและภาษามลายู จึงสามารถประสานความร่วมมือทั้งท้องถิ่นและทางราชการได้ดี ในยุคที่ตนกูบาฮารุดดินเป็นเจ้าเมือง เมืองสตูลมีความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจได้ผลจากการค้ารังนก และพริกไทยเป็นอันมาก ทั้งยังเป็นศูนย์กลางรับซื้อขายสินค้าจากปีนังและภูเก็ต จนทำให้เมืองสตูลได้ชื่อว่า นัครีสโตยมัมบังสการา (Negeri Setoi Mum Bang Segara) หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า สตูล เมืองแห่งพระสมุทรเทวา แลละเป็นหัวเมืองที่มีความสำคัญมากในยุคนั้น กล่าวกันว่าท่านมีความสนิทสนมกับทางราชการกรุงสยามเป็นพิเศษ ถึงกับสั่ง บุหงามาศ เครื่องราชบรรณาการถวายต่อราชสำนักสยามโดยตรง โดยไม่ผ่านเมืองไทรบุรี
เมืองสตูลได้แยกจากเมืองไทรบุรีอย่างเด็ดขาด ตามหนังสือสัญญาไทยกับอังกฤษ เรื่องปักปันเขตแดนระหว่าง ไทยกับสหพันธรัฐมลายู ซึ่งลงนามกับที่กรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ร.ศ.127 (พ.ศ.2752) จากหนังสือสัญญานี้ ยังผลให้ไทรบุรีและเปอร์ลิสตกเป็นของอังกฤษ ส่วนสตูลคงเป็นของไทยสืบมาจนปัจจุบัน
พระยาภูมินารถภักดี เคยใช้กุศโลบายอันแยบยล รักษาพื้นที่ เกาะตะรุเตา อาดังราวี และเกาะหลีเป๊ะ ให้ยังคงอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทยไม่ตกไปอยู่ในมือเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ที่พยายามจะล้ำเส้นเขตแดนเข้ามาฮุปไป...ถ้าไม่มีเจ้าเมืองสตูลที่มีความรอบครอบอย่างท่าน ป่านนี้เกาะหลีเป๊ะอันแสนงาม คงอยู่ในเขตประเทศมาเลเซียเหมือนเกาะลังกาวีไปแล้ว
พระยาภูมินารถภักดี เป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อแผ่นดินไทยบริการบ้านเมืองด้วยความบริสุทธิ์ใจ ราษฏรอยู่กันอย่างสงบสุข มีความเจริญก้าวหน้า บ้านพักของพระยาภูมินารถภักดี คือ ที่ตั้งโรงแรมพินนาเคิลวังใหม่ ทุกวันนี้ ชาวสตูลสมัยก่อนนิยมเรียก วังเก่า หมายถึง คฤหาสน์ หรือ จวน ของผู้ว่าราชการเมือง หรือเจ้าเมือง เมืองสตูลถูกปกครองด้วยเชื้อสายของพระยาไทรบุรี ระหว่างปี พ.ศ.2382-2443 เป็นเวลากว่า 60 ปี พระยาภูมินารถภักดีจึงเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูลคนแรกที่เป็นคนธรรมดาสามัญ ไม่มีเชื้อสายของพระยาไทรบุรีแต่อย่างใด พระยาภูมินารถภักดี เป็นนักปฏิรูปบ้านเมืองได้พัฒนาเมืองสตูลขึ้นต่อมณฑลภูเก็ต มีพระยารัษฏานุประดิษฐ์มหิศรภักดีเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑล เป็นผู้นำสำคับอยู่ด้วย ผลงานที่สำคัญของพระยาภูมินาถภักดี มีดังนี้
- ผลงานด้านการปกครอง พระยาภูมินารถภักดีได้จัดระบบการปกครองบ้านเมืองตามแบบอย่างเมืองไทรบุรี นับเป็นครั้งแรกที่มีส่วนราชการอย่างชัดเจนมีผู้รับผิดชอบฝ่ายงานต่างๆ เรียกว่า คณะกรรมการจังหวัด เช่น ฝ่ายคลัง ฝ่ายกิจการท้องถิ่น ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายสาธารณะสุข ฝ่ายการรักษาความสงบภายใน ฝ่ายล่ามภาษาไทย เป็นต้น จัดให้มีกำนัน (ปังฮูลูมูเก็ม) เป็นผู้ดูแลในแต่ละตำบล เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในท้องที่ สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจและข้าราชการมีเครื่องแบบเฉพาะ โดยเสื้อตัวนอกมีกระดุม 5 เม็ด ทำด้วยโลหะสั่งจากต่างประเทศ มีอักษรมลายูกำกับไว้เด่นชัดว่า นครีสโตย แปลว่า เมืองสตูล ตัวเมืองสตูลตั้งอยู่ที่ ตำบลมำบ๊งนังคะรา คือ ย่านถนนบุรีวานิชทุกวันนี้ เป็นที่ตั้งของศาลาว่าการเมือง มัสยิดกลาง บ้านพักข้าราชการ และอาคารอื่น ๆ ศาลาว่า การเมืองตั้งอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสตูลทุกวันนี้ เป็นอาคารชั้นเดียวค่อนข้างแคบ เพื่อความสะดวกในการปกครองบ้านเมือง พระยาภูมินารถภักดีได้สร้างอาคารหลังใหม่คือ คฤหาสน์กูเด็น สร้างเมื่อปี พ.ศ.2445 เป็นศูนย์ราชการบ้านเมือง ไว้ต้อนรับแขกเมือง และเป็นศาลาว่าการเมืองสตูล หรือศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารสวยงามเชิดหน้าชูตามากมาย เช่น สำนักงานเทศบาล ที่ว่าการอำเภอเมืองสตูล โรงเรียนเทศบาล ที่ทำการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสตูลปัจจุบันทางราชการ ประกาศจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสตูล อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
พระยาภูมินารถภักดี ได้แบ่งเขตการปกครองเมืองสตูล ออกเป็น 2 อำเภอ กับ 2 กิ่งอำเภอ เพื่อความสะดวกในการบริหารบ้านเมือง ประกอบด้วย อำเภอมำบัง อำเภอสุไหงอุเป (ทุ่งหว้า) กิ่งอำเภอละงู และกิ่งอำเภอดุสน เพื่อเตรียมการขยายท่าเรือสินค้าที่อำเภอสุไหงอุเปจุงก่อสร้างที่ว่าการอำเภอขึ้นใหม่ ในแต่ละอำเภอได้สร้างสถานีตำรวจเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่ราษฏรตามอำเภอนั้นๆ ด้วย
- การสื่อสารและการคมนาคม จัดให้มีที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขขึ้นตั้งอยู่ที่ที่ทำการไปรษณีย์ปัจจุบัน มีการเดินสายโทรเลขถึงอำเภอทุ่งหว้า ตลอดไปถึงจังหวัดตรัง ในตัวเมืองก็มีโทรศัพท์ใช้ติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ได้มีไปถึงด่านศุลกากรเกาะนก และสถานีตำรวจฉลุง นอกจากนั้นยังมีการเดินสายโทรเลขไปถึงเมืองปะลิส โดยผ่านทางบ้านทุ่งมะปรัง ตำบลควนสะตอ และบ้านวังเกลียนของเมืองปะลิส สำหรับด้านคมนาคมเกี่ยวกับถนนหนทางได้ก่อสร้างและปรับปรุงถนนที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น เช่น ถนนจากตัวเมืองไปยังบ้านจีน (บ้านฉลุง) และได้ก่อสร้างขยายไปถึงบ้านวังประจัน โดยแยกจากบ้านจีนไปทางบ้านกุบังปะโหลด จากบ้านจีนแยกไปบ้านควนโพธิ์ และกรุยทางจากบ้านจีนไปยังบ้านอุสน ตัดถนนจากตัวเมืองถึงท่าเรือศาลากันตงต่อไปถึงท่าเรือเกาะนก เพื่อช่วยให้การลำเลียง และขนส่งสินค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น ตัดถนนจากอำเภอสุไหงอุเปไปกิ่งละงู จากละงูไปยังบ้านปากบารา เป็นต้น
ตัวเมืองสตูลมีท่าเรือสำคัญ ได้แก่ ท่าเรือเซ่งกิ้น หรือท่าเรือเหรียญทอง (ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว) เป็นท่าเรืออยู่ใกล้จากตัวเมืองมีเรือกลไฟมาเทียบท่าได้ ท่านได้ขยายท่าเรือเพิ่มอีกหนึ่งแห่ง คือ ท่าเรือคลองเส็นเต็น เนื่องจากลำคลองมีน้ำลึก และสามารถทะลุไปออกปากคลองเจ๊ะสมาด สู่ทะเลอีกต่อหนึ่ง ใช้เป็นท่าเรือบรรทุกขนถ่ายไม้โกงกางไม้แสมไปขายที่เกาะปีนังได้
- ผลงานด้านการศึกษา แม้ว่าพระยารัษฏานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนหลังแรกขึ้นในเมืองสตูล คือ โรงแรมไทยมลายู จัดเป็นโรงเรียนหลักสูตรพิเศษคือสอนทั้งภาษาไทย และภาษามลายู ตั้งขึ้นที่ตำบลมำบังนังคะรา คือ ที่ตั้งห้องสมุดประชาชนจังหวัดสตูลทุกวันนี้ แต่การเตรียมการทั้งหลาย การประสานงาน สนับสนุนกิจการของโรงเรียนตกอยู่ที่พระยาภูมินารถภักดีเป็นหลัก การศึกษาของจังหวัดสตูลจึงเริ่มเป็นปึกแผ่นนับแต่บัดนั้น
- การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน ชื่อเรียกในสมัยนั้นว่าการัน (เพี้ยนมาจากภาษาอังกฤษว่า การันตี แปลว่า การรับรอง) หมายถึงการออกโฉนดที่ดินนั่นเอง มีการจัดระบบการถือครองที่ดินของประชาชนออกเป็นหลักฐานให้ยึดถือไว้ มีการรังวัดปักหลักหินแสดงเขตที่ดินแต่ละเจ้าของ ซึ่งหลักหินดังกล่าวยังมีปรากฏให้เห็นมาจนถึงทุกวันนี้
- การค้าระหว่างประเทศ ได้พัฒนาให้กิจการค้าระหว่างประเทศเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดสมัยหนึ่ง อำเภอสุไหงอุเป (ทุ่งหว้า) กลายเป็นท่าเรือใหญ่ มีพ่อค้าชาวจีน มอญ มลายู อินเดีย เข้ามาติดต่อเพื่อรับซื้อสินค้าหลัก คือ พริกไทย และมีชาวจีนจากเกาะปีนังจำนวนพันคนอพยพเข้ามาทำสวนพริกไทยที่ทุ่งหว้า มีเรือกลไฟเดินไปมาระหว่างทุ่งหว้ากับปีนัง จำนวน 5 ลำ เป็นเรือกลไฟของเมืองสตูล 1 ลำ คือ เรือมำบัง ส่วนที่เหลือเป็นเรือของต่างชาติ สินค้าสำคัญที่ส่งไปขายต่างประเทศ นอกจากพริกไทยแล้วก็มีรังนกนางแอ่น ไข่จาระเม็ด ถ่านไม้ เป็นต้น หลักฐานที่หลงเหลืออยู่ทุกวันนี้ คือ ย่านตลาดทุ่งหว้ายังมีอาคารร้านค้าแบบเก่าที่พ่อค้าชาวจีนสร้างไว้ เป็นรูปทรงแบบตะวันตก เป็นอาคารแบบเดียวกันกับที่สร้างที่ปีนังและภูเก็ต สันนิษฐานว่าอาคารดังกล่าวสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2440-2445 อายุปัจจุบันประมาณ 105 ปีแล้ว
- ด้านภาษีอากรได้ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีอากร ภาษีศุลกากร ในการส่งสินค้าออก นอกจากนั้นเมืองสตูลได้ผูกขาดการเก็บภาษีเป็นส่วนใหญ่ เช่น ผูกขาดเกาะรังนก ภาษีเข้าต่างๆ เก็บค่าภาคหลวงไม้ที่ส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ ภาษีฝิ่น ไข่จาระเม็ด ปลิงทะเล เปลือกหอย และมีการเก็บภาษีขาออกขาเข้า ทำให้รัฐบาลมีรายได้สูงขึ้น สร้างความเจริญแก่บ้านเมืองเป็นอย่างมาก
- ผลงานด้านศาสนา ได้ปรับปรุงส่งเสริมบทบาทของกอฏี ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาจัดสินคดีมรดรคดีครอบครัว หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือปฏิบัติผิดระเบียบจะมีการปรับเปรียบเทียบหรือจำคุกตามโทษานุโทษ
- สร้างเรือนจำ พระยาภูมินารถภักดี ได้จัดสร้างเรือนจำสมัยใหม่เลียนแบบเรือนจำที่อังกฤษสร้างขึ้นที่เกาะปีนัง เนื่องจากว่า ท่านเคยอาศัยอยู่ที่เกาะปีนังมาก่อน ปัจจุบันคือเรือนจำจังหวัดสตูล ตั้งอยู่ที่ถนนยาตราสวัสดี
พัฒนากิจการพยาบาล มีการขยายกิจการโรงพยาบาล สถานที่ผ่าตัด คนไข้ จัดสร้างที่พักนายแพทย์จากที่เดิม เคยอยู่ในย่านชุมชนของตำบลมำบังคะรา ให้มาอยู่ในบริเวณโรงพยาบาล เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่